ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะจัดหาแหล่งเงินทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายให้แก่ประชาชนรายย่อย ทั้งเพื่อการใช้สอยส่วนบุคคลและเพื่อการลงทุนประกอบธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายคือเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้แก่ประชาชนรายย่อย ในขณะเดียวกันก็เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแก่ประชาชน อีกทั้งยังช่วยอำนวยประโยชน์แก่ผู้ให้กู้ซึ่งมีเงินทุน ให้สามารถปล่อยกู้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
โดยโครงการที่รัฐบาลจัดทำขึ้น มีสองโครงการใหญ่ๆ คือ nano finance และ pico finance ซึ่งมีหลายคนสงสัยว่ามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร และอย่างเราต้องขอสินเชื่อที่โครงการไหน
นาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายย่อยเพื่อ่การประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง คือเป็นสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ โดยอนุมัติวงเกินที่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และจำกัดพื้นที่ให้บริการ ผู้ยื่นคำขอเพื่อประกอบธุรกิจประเภทนี้ต้องยื่นคำร้องขอกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแลสินเชื่อตัวนี้โดยตรง
ส่วนพิโกไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (Pico Finance) มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง คือเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ โดยอนุมัติวงเกินที่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย ผู้ปล่อยสินเชื่อเป็นผู้พิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยให้บริการแก่บุคคลที่มีทะเบียนบ้าน อยู่อาศัยหรือทำงานอยู่ในเขตจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ที่ผู้ปล่อย pico finance ดังกล่าวตั้งอยู่ ผู้ยื่นคำขอเพื่อประกอบธุรกิจประเภทนี้ต้องยื่นคำร้องขอกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เนื่องจากทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้กำกับดูแลสินเชื่อตัวนี้โดยตรง
โดยสินเชื่อทั้ง 2 แบบนั้น ผู้มีเงินทุนที่ต้องการปล่อยสินเชื่อจะต้องจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตประกอบธุรกิจกับทางหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง โดยจะสามารถคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี ซึ่งในจุดนี้ผู้กู้หรือประชาชนทั่วไปจะสามารถสบายใจได้ว่าสินเชื่อที่ตนได้รับนั้น คิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่เป็นธรรม เป็นสินเชื่อในระบบที่ถูกต้องและปราศจากการคุกคามจากเจ้าหนี้นอกระบบ
ผู้ที่สามารถจะทำการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้นั้น ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หากเป็นธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนสามารถดำเนินการได้เลย แต่หากเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุน ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียก่อน (ผ่านทางธนาคารแห่งประเทศไทย) จึงจะสามารถประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อนาโนได้ โดยจะต้องจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด และมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ไม่เกิน 7 เท่า
ในส่วนของผู้ที่สามารถจะทำการปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ได้นั้นต้องมีคุณสมบัติคือต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแบบใดแบบหนึ่ง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด, บริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัด มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้าน ซึ่งนิติบุคคลดังกล่าวหลังต้องทำเรื่องขออนุญาตจากกระทรวงการคลังเสียก่อน (ผ่านทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) จึงจะทำการปล่อยสินเชื่อได้ โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถกำหนดเงื่อนไขการปล่อยกู้เองได้ เช่น ผู้ยื่นขอสินเชื่อจะต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำ หรือไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้
ค้นหาและขอรับสินเชื่อพิโก ได้ที่นี่
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์
แก้ไขเมื่อ 29/08/2020 | เผยแพร่เมื่อ 07/06/2018
โดย Apinya Saeueng
บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ