ประกัน PA

การคำนวณค่าเบี้ยประกัน PA (หรือ การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ตอนที่ 3)

ประกัน PA มาจากคำว่า การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล  หรือ Personal Accident Insurance (ในกลุ่มธุรกิจประกันภัย เรียกกันสั้นๆ ว่า ประกัน PA)  คือ กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ที่ใช้สำหรับการประกันภัยเฉพาะบุคคลคนเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ การประกันอุบัติเหตุ ยังมีอีก 2 แบบ คือ การประกันแบบกลุ่ม เช่น กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน กลุ่มสมาคมครูผู้ปกครอง หรือการทำประกันภัยให้กลับสมาชิกในกลุ่มที่มีมาก่อนแล้ว ไม่ใช่การตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อทำประกันกลุ่มโดยเฉพาะ และ การประกันภัยแบบนักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่จัดทำให้โดยสถาบันการศึกษานั้น ๆ 

การคำนวณค่าเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุ ซึ่งรวมถึงค่าเบี้ยประกันส่วนบุคคล หรือ ประกัน PA, ค่าเบี้ยประกันกลุ่ม และค่าเบี้ยประกันนักเรียน นิสิตนักศึกษา ด้วย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มคน

การทำประกันภัยแบบกลุ่มจะถูกกว่าการทำประกันภัยรายบุคคล หรือประกัน PA โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกลุ่มคนมีจำนวนมากเบี้ยประกันภัยก็จะยิ่งต่ำลง เช่น จำนวนคน 20 – 49 คน จะได้ลดเบี้ยประกันภัย 10 % จำนวนคน  200 – 999 คน ได้ลดเบี้ยประกันภัย 25 % เป็นต้น

สำหรับการประกันภัยกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษานั้นเบี้ยประกันภัยจะต่ำกว่ากลุ่มบุคคลทั่วไปแต่ทั้งนี้เบี้ยประกันภัย จะแตกต่างกันตามระดับการศึกษาด้วย โดยการศึกษาระดับอนุบาลและประถม เบี้ยประกันภัยจะต่ำสุด สูงขึ้นมาคือระดับมัธยม ต่อมาคือระดับอุดมศึกษา และสายอาชีพจะมีเบี้ยประกันภัยสูงสุดสำหรับในการประกันภัยกลุ่มนักเรียน

  1. อาชีพ

การแบ่งชั้นอาชีพในการรับประกันภัยจะแบ่งเป็น 4 ชั้น ได้แก่

อาชีพชั้น 1 ส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน

อาชีพชั้น 2 ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา

อาชีพชั้น 3 ปฏิบัติงานด้านช่าง กระบวนการผลิต ที่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ผู้ใช้แรงงาน การเดินทาง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ

อาชีพชั้น 4 อาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน

ในการแบ่งชั้นอาชีพดังที่กล่าวมาแล้ว อาชีพชั้น 1 จะเป็นชั้นอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยต่ำที่สุด เบี้ยประกันภัยก็จะต่ำกว่าอาชีพชั้นอื่น ๆ ในขณะที่อาชีพชั้น 4 เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยสูงที่สุด เบี้ยประกันภัยก็จะสูงกว่าอาชีพอื่น ๆ

  1. อายุ

คนที่อายุเกินกว่า 60 ปี เบี้ยประกันภัยจะสูงกว่าคนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี

  1. ความคุ้มครองที่เลือกซื้อ

ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเฉพาะบางอย่างก็ได้ เช่น ต้องการเพียงการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพ โดยไม่เอาความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่าเบี้ยประกันภัยก็จะแปรตามความคุ้มครองที่ต้องการ

  1. ความคุ้มครองเพิ่มเติม

หากผู้เอาประกันภัยต้องการขยายความคุ้มครองไปถึงภัยที่มีการยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยได้แก่ การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย การโดยสารเฮลิคอปเตอร์ การจลาจล/นัดหยุดงาน สงคราม ด้วยแล้วเบี้ยประกันภัยก็จะเพิ่มสูงขึ้น

  1. จำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนด

เบี้ยประกันภัยจะผันแปรตามจำนวนเงินเอาประกันภัยด้วย ดังนั้น ในกรณีการซื้อผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล ต้องกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้เหมาะสม หากซื้อไว้มากเกินความจำเป็นก็จะเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยโดยไม่จำเป็น

  1. การกำหนดจำนวนความรับผิดส่วนแรก

หากผู้เอาประกันภัยยินยอมรับความเสียหายส่วนแรกเองบางส่วนในกรณีของค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประกันภัยก็จะต่ำลง หากผู้เอาประกันภัยยินยอมให้บริษัทงดจ่ายผลประโยชน์ กรณีการทุพพลภาพชั่วคราวในช่วงสัปดาห์แรก ๆ เบี้ยประกันภัยก็จะต่ำลง 

 

กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือ ประกัน PA ของแต่ละบริษัทเป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือไม่มีหลักการในการพิจารณาเลือกซื้ออย่างไร

กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือ ประกัน PA เป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกบริษัท แต่ทั้งนี้ อัตราเบี้ยประกันภัยที่บริษัทใช้มีความแตกต่างกัน ดังนั้นผู้ที่ต้องการซื้อประกันภัย ต้องพิจารณาในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  1. พิจารณาแบบความคุ้มครองระหว่าง แบบ อบ. 1 และ อบ. 2 โดย แบบ อบ. 2 จะมีความคุ้มครองที่กว้างกว่า และน่าจะมีความเหมาะสมกับผู้ทำงานด้านช่าง หรืองานฝีมือที่เกี่ยวข้องกับการใช้นิ้ว
  2. พิจารณาความต้องการของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนเงินที่จะเอาประกันภัย ต้องเหมาะสมกับรายได้ (ประมาณ 10 เท่าของรายได้ต่อปี)
  3. พิจารณาเบี้ยประกันภัยระหว่างบริษัทประกันภัยต่าง ๆ และเปรียบเทียบกันหลาย ๆ บริษัท
  4. พิจารณาฐานะของบริษัทประกันภัย / และวิธีการดำเนินงานของบริษัท

หากเกิดภัยขึ้นตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ผู้เอาประกันภัยควรปฏิบัติเช่นไร จึงจะมีสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

เมื่อผู้เอาประกันภัยประสบอุบัติเหตุต้องแจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบโดยทันที และนำหลักฐานอาทิเช่น ใบเสร็จแสดงรายการค่ารักษาพยาบาล รายงานของแพทย์ ใบแจ้งความ ใบมรณะบัตร เป็นต้น ส่งมอบให้บริษัทประกันภัย

 

 

(7.12.2560)

 

 



Siirry alkuun