ประกันชีวิตผู้สูงอายุ

ประกันชีวิตผู้สูงอายุ

เป็นประกันชีวิตอีกประsเภทหนึ่งที่ตอนนี้มีการทำการตลาดกันอย่างเข้มข้นเพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุมีการทำประกันมากขึ้น จากเดิมที่การทำประกันชีวิตในวัยเกษียณนั้นเป็นเรื่องยาก จุดนี้เองจึงเป็นโอกาสทางการตลาดที่บริษัทประกันมองเห็นและได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อจับลูกค้ากลุ่มนี้ โดนมีการนำเหล่าคนดังรุ่นใหญ่มาเป็นพรีเซนเตอร์เพื่อช่วยดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

ประกันชีวิตประเภทนี้มักจะใช้คำโฆษณาว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” ตามมาด้วย “ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ” ที่ประกันประเภทอื่นไม่สามารถให้ข้อเสนอเหล่านี้ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนข้อจำกัดเดิมของระบบประกันที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพของผู้ที่ซื้อกรมธรรม์ประเภทที่คุ้มครองสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำประดิษฐ์นั้นก็แฝงไปด้วยเงื่อนไขยิบย่อยอยู่อีกหลายข้อ กลายเป็นที่มาของการกำหนดกรอบการโฆษณาขายประกันภัยเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชน ดังนี้

  1. ต้องไม่โฆษณาเกินความจริงหรือใช้ข้อความที่เป็นเท็จ
  2. ข้อความต้องชัดเจนและไม่กำกวม
  3. ต้องไม่ใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในรายละเอียดสาระสำคัญหรือการจ่ายผลตอบแทน
  4. การที่ระบุว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” จะต้องระบุเพิ่มด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันหรือไม่ ถ้ามี ต้องระบุเพิ่มอีกว่า การแถลงนี้เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับประกัน
  5. ให้ใช้ข้อความเป็นคำเตือนว่า “ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง” หรือข้อความทำนองเดียวกันก็ได้

ประกันชีวิตผู้สูงอายุมีทั้งประกันชีวิตอย่างเดียวและที่มีประกันสุขภาพด้วย ในส่วนของประกันชีวิตเพียงอย่างเดียวนั้นมี 3 บริษัท ได้แก่ เมืองไทยประกันชีวิต อยุธยาอลิอันซ์ และเอไอเอ ผู้สูงอายุที่สนใจประกันประเภทนี้ควรติดต่อขอรายละเอียดมาศึกษา พิจารณา เปรียบเทียบเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน โดยทั่วไปแล้วจำนวนค่าเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับจำนวนทุนเอาประกันและเงื่อนไขในการจ่ายผลตอบแทน อธิบายง่าย ๆ ได้ว่าถ้าทุนประกันสูงและมีการจ่ายคืนสูงในกรณีที่เสียชีวิต ก็ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันสูงตามนั่นเอง      

ตัวอย่างเงื่อนไขของเมืองไทยประกันชีวิตและเอไอเอ (50 อัพ) จะจ่ายคืน 2-5 เท่าของทุนเอาประกันในกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสาธารณะ ส่วนรายละเอียดของคำว่า อุบัติเหตุสาธารณะ นั้นครอบคลุมอะไรบ้าง ต้องสอบถามเพิ่มเติมจากบริษัท และผู้เอาประกันมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงนี้หรือไม่ก็มีผลประกอบการพิจารณาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีส่วนของการคุ้มครองสุขภาพเพิ่มเติมอีกด้วยว่าทำได้หรือไม่ เพราะบางเงื่อนไขของบางบริษัท ไม่สามารถให้ซื้อเพิ่มได้ แต่บางบริษัทให้ซื้อเพิ่มได้ อีกทั้งระยะเวลาในการชำระเบี้ยประกัน บางบริษัทเสนอให้ชำระแค่ 10 ปีเท่านั้น ในขณะทีบางบริษัทกำหนดให้ต้องชำระตลอดจนถึงอายุ 90 ปี ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้จะมีผลต่อจำนวนค่าเบี้ยประกันทั้งสิ้น

ผู้ที่ทำประกันประเภทนี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นคนที่ได้รับเงินจ่ายคืน เพราะจุดประสงค์ของประกันประเภทนี้คือ หลังจากผู้ทำประกันเสียชีวิตแล้ว ลูกหลานจะมีเงินมาจัดการงานศพ หรือที่บางบริษัทใช้คำโฆษณาว่า “จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน”

อย่างไรก็ควรจะต้องมีการศึกษารายละเอียดของกรมธรรม์ รวมทั้งเงื่อนไขและการคุ้มครองให้เข้าใจดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจเลือกตามเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ที่ทำประกันและผู้ที่เกี่ยวข้องนั่นเอง

 

(16.1.2561)

 

 



Siirry alkuun