การประกันภัยเป็นการตกลงกันระหว่างบุคคล 2 ฝ่ายคือบริษัทประกันภัย (ผู้รับประกันภัย) และผู้ซื้อประกันภัย (ผู้เอาประกันภัย) โดยมี 2 รูปแบบได้แก่ “สัญญาประกันชีวิต” ซึ่งจะเน้นไปที่การคุ้มครองชีวิตและการออมเงิน และ “สัญญาประกันวินาศภัย” ซึ่งจะเน้นไปที่การคุ้มครองภัยพิบัติต่างๆ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม และหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้รับประกันภัยก็จะต้องชดเชยตามรายละเอียดความคุ้มครองให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์ โดยสามารถศึกษารายละเอียดของประกันภัยประเภทต่าง ๆ ได้ที่หัวข้อบริการที่หน่วยงานอื่น ๆ กำกับดูแล
บริษัทประกันภัย คือ บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 หลักการทำประกัน คือ การโอนย้ายความเสี่ยงของการสูญเสียจากผู้เอาประกันไปยังบริษัทประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเงิน ซึ่งเรียกว่า "เบี้ยประกันภัย" ให้แก่บริษัทประกันภัย และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นในเงื่อนไขที่ตกลงกัน บริษัทประกันภัยมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมให้แก่ผู้เอาประกัน ตามที่ได้ระบุในกรมธรรม์ประกันภัย
ผู้รับประกันภัยหรือบริษัทประกันภัยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. บริษัทประกันชีวิต
หมายถึงบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิต เพื่อรับประกันต่อความสูญเสียหรือความเสียหายต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยสัญญาว่าจะจ่ายชดเชยให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์กรณีผู้เอาประกันภัยมีการเสียชีวิต และอาจมีความคุ้มครองอื่นๆ เช่น การประกันอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะ การประกันกรณีทุพพลภาพ หรือการประกันภัยสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 25 บริษัท
2. บริษัทประกันวินาศภัย
หมายถึงบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เพื่อรับประกันต่อความเสียหายต่างๆ เช่น อัคคีภัย ภัยรถยนต์ ภัยทางทะเลและขนส่ง ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 64 บริษัท
บริษัทประกันภัย เริ่มจากการประกันอัคคีภัย มีจุดกำเนิดจากการเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในนครลอนดอนในราวเดือนกันยายน ค.ศ. 1666 เพลิงไหม้ครั้งนั้นทำให้อาคารบ้านเรือนเกือบสามในสี่ของนครลอนดอนต้องพินาศลง
จากเหตุไฟไหม้ข้างต้น ในปีถัดมา ดร.นิโคลาส บาร์บอน รับหุ้นส่วนเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าเฉลี่ยความเสี่ยง ซึ่งแต่เดิมตนเป็นผู้รับภาระอยู่คนเดียว สามปีต่อมาคู่แข่งขันเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งชื่อ “The Friendly” ทั้งสองแห่งนี้ออกกรมธรรม์รับประกันอัคคีภัย และจัดพนักงานดับเพลิงไว้สำหรับผจญเพลิงที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้
ในสมัยนั้น ไม่อาจเรียกว่าเป็น “บริษัท” ในความหมายของบริษัทรับประกันภัยในปัจจุบัน ซึ่งมีขนาดใหญ่โตและมีผู้ถือหุ้นจำนวนมากได้ เพราะสำนักงานที่รับประกันภัยเป็นธุรกิจของรายบุคคลหรือหุ้นส่วนกลุ่มน้อย ซึ่งจำกัดการรับประกันภัยเฉพาะอาคารที่อยู่อาศัยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1710 มีการจัดตั้งบริษัทรับประกันอัคคีภัยขึ้นเป็นครั้งแรก คือ The Sun Insurance Office Of London ซึ่งยังคงดำเนินกิจการอยู่ตราบจนทุกวันนี้ในชื่อของ Royal & Sun Insurance Plc.
ในช่วงเวลา 10 ปี ก่อนหน้านั้น การประกันภัยทางทะเลและการประกันชีวิตก็เข้าสู่ระยะของการเติบโตอย่างรวดเร็วก่อนปี ค.ศ. 1699 ร้านกาแฟกลายเป็นสถานทีที่คนนิยมไปพบปะกันเพื่อกระจายหรือรับข่าวสารประจำวัน
หนึ่งในจำนวนร้านกาแฟเหล่านี้ เป็นของ Mr. Edward Lloyd ตั้งอยู่บนถนนลอมบาร์ค ร้านนี้ เป็นสถานที่ที่พ่อค้า นักธุรกิจและนายเรือ ตลอดจนผู้สนใจในการประกันภัยมักจะมาพบปะพูดคุยรับฟังข่าวสารต่างๆ เช่นเรื่องเรือที่มาเทียบท่า เรือ ที่กำลังเดินทางมาใกล้ถึงที่หมาย เรือที่อับปาง รวมทั้งเป็นที่ตกลงทำสัญญาประกันภัยกันด้วย ในที่สุดก็กลายเป็นที่มาของสมาคมผู้รับประกันภัยแห่งลอยด์ หรือลอยด์แห่งลอนดอน (Lloyds of London) ซึ่งเป็นสถาบันประกันภัยที่มีความสำคัญระดับนานาชาติจวบจนทุกวันนี้
(15.5.2560)