การ ประกันภัย รถยนต์ ภาระหรือความอุ่นใจ

การประกันภัยรถยนต์ ภาระหรือความอุ่นใจ?

“รถยนต์” ถือเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดทั้งประโยชน์และความเสียหายได้ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนไหวได้ ดังนั้น ผู้เป็นเจ้าของรถ จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่จะต้องดูแลทั้งทรัพย์สินของตน และดูแลความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพราะทรัพย์สินชิ้นนี้

 

ด้วยเหตุนี้เอง ผลิตภัณฑ์ประกันรถยนต์จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งสำหรับบางคน อาจมองว่า ประกันภัยรถยนต์นั้น เป็นการซื้อความอุ่นใจ และลดความเสี่ยงในการที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย หากเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น ทั้งกับผู้ขับขี่เอง, ตัวรถ และบุคคลอื่นที่เป็นคู่กรณี เนื่องจากการซื้อประกันภัยรถยนต์นั้น จะเป็นการจ่ายค่าเบี้ยคุ้มครองความเสี่ยงจำนวนหนึ่ง เพื่อให้บริษัทรับทำประกัน รับผิดชอบค่าสินไหมในส่วนที่เหลือ หากเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้นจริง

 

ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีผู้คนบางส่วนที่มองว่าประกันภัยรถยนต์นั้นกลายเป็นภาระที่เจ้าของรถจะต้องรับผิดชอบ เป็นค่าใช้จ่ายที่บางครั้งอาจดูว่าเกินความจำเป็น เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ได้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อใด แต่กลับต้องจ่ายค่าเบี้ยให้กับความว่างเปล่า ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นอีกมุมมองที่ผู้ขับขี่มีต่อประกันภัยรถยนต์

 

เชื่อว่าจากความคิดเห็นในข้อที่สอง จึงทำให้ในประเทศไทยเกิดข้อกำหนดเรื่องการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยรัฐบาลบังคับให้เจ้าของรถทุกคัน จะต้องมีประกันภัยชนิดนี้ ไม่ว่ารถยนต์จะอยู่ในสภาพใดก็ตาม ซึ่งเป็นการซื้อประกันภัยในราคาต่ำ และคุ้มครองค่าสินไหมชดเชยเบื้องต้น เฉพาะในกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินจำเป็นเท่านั้น ได้แก่ กรณีที่เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและอนามัยของบุคคลภายนอก และตัวผู้ขับขี่เอง รวมถึงผู้โดยสารภายในรถ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนไป จำนวนรถยนต์และปัจจัยความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อรถยนต์มากยิ่งขึ้น จึงทำให้ผู้ใช้รถจำนวนมาก เลือกที่จะรับภาระในการจ่ายค่าเบี้ยประกัน เพื่อแลกกับความสบายใจและถือเป็นการ “ซื้อความเสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง โดยในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ประกันรถยนต์ ได้ถูกแบ่งออกเป็นหลากหลายประเภท รวมทั้งได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสม และตรงกันกับความต้องการของเจ้าของรถ ประกันรถยนต์จึงมีตั้งแต่ การประกันภัยประเภทที่หนึ่ง ไปจนถึงประกันภัยประเภทที่สาม

 

ประเภทของการการประกันภัยรถยนต์

  1. ประกันภัยรถยนต์ชั้นหนึ่ง หรือ ประกันภัยรถยนต์ประเภทหนึ่ง รู้จักกันโดยทั่วไปในฐานะกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองดีที่สุด โดยประกันภัยชนิดนี้ เจ้าของรถสามารถเคลมค่าชดเชยได้ในทุกกรณี เมื่อเกิดความเสียหายต่อรถ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่มีคู่กรณี หรือไม่ก็ตาม รวมทั้งกรณีรถไฟไหม้ หรือสูญหาย มีวงเงินการเอาประกันที่สูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการประกันภัยประเภทอื่นๆ ซึ่งความครอบคลุมที่ทั่วถึง มาพร้อมกับราคาค่าเบี้ยประกันที่สูงที่สุดเช่นกัน
  2. ประกันภัยรถยนต์ชั้นสอง หรือ ประกันภัยรถยนต์ประเภทสอง เป็นทางเลือกที่ดี รองจากการประกันภัยรถยนต์ชั้นหนึ่ง โดยให้ความคุ้มครองทุกกรณีเหมือนกันกับประกันชั้น 1 ยกเว้นความเสียหายที่เกิดกับรถผู้เอาประกันภัย ซึ่งในส่วนนี้เป็นความแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน ระหว่างประกันภัยชั้น 1 และชั้น 2 สำหรับรถยนต์ที่เหมาะกับการสมัครประกันภัยประเภทนี้ อาจเป็นรถยนต์ที่มีมูลค่าไม่สูงมาก เนื่องจากประกันประเภทนี้ ไม่รองรับการจ่ายค่าชดเชยให้กับรถยนต์เอาประกัน หากเกิดความเสียหายจากกรณีชน
  3. ประกันภัยรถยนต์ชั้นสาม หรือ ประกันภัยรถยนต์ประเภทสาม เป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองลดหลั่นลงมา จากประกันสองประเภทแรก ทางด้านการคุ้มครองด้านชีวิต และทรัพย์สินของคู่กรณี ยังคงเป็นพื้นฐานที่ได้รับความคุ้มครอง แต่ประกันภัยชั้น 3 จะไม่ครอบคลุมเรื่องของตัวผู้ขับขี่เอง โดยประกันภัยชนิดนี้จะเหมาะสำหรับรถยนต์ และผู้ขับขี่ที่มีความเสี่ยงทางด้านความเสียหายน้อย ปัจจัยด้านประสบการณ์การขับรถของผู้ขับขี่ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ประกันภัยชนิดนี้จะเป็นประกันภัยที่มีค่าเบี้ยถูกที่สุด

 

ความอุ่นใจหรือภาระ?​ คุณเลือกที่จะคิดได้ อย่างไรก็ตาม หากค่าเบี้ยประกันรถยนต์ที่เหมาะสมกับรถ และการใช้งานของคุณ ไม่ได้สูงเกินไปจนกระทบการเงินประจำวัน การ ประกันภัย รถยนต์ก็น่าจะเป็นเรื่องดี เป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิตและทรัพย์สินในภายภาคหน้า เพราะเรื่องของอุบัติเหตุ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดคิด การเตรียมพร้อมอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่ดี

 

(5.12.2560)

 

 



Siirry alkuun