ด้วยความคิดริเริ่มของ อเล็กซ์ ลิเนนโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท สตางค์ดี.คอม (SatangDee.Com) ที่ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้เป็นแหล่งตลาดการลงทุนขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังไม่มีบริษัท Fintech ใดทำการตลาดในส่วนนี้มาก่อน จึงถือเป็นโอกาสทองของ สตางค์ดี.คอม บริษัทสตาร์ทอัพ Fintech ที่จะเปิดเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแบบ Peer-To-Peer Lending หรือ P2P แบบบุคคลต่อบุคคลรายแรกในประเทศไทย
รูปแบบธุรกรรมการเงินแบบใหม่อย่าง Peer-To-Peer Lending หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า P2P แพลตฟอร์มที่ใช้เชื่อมต่อผู้กู้ยืมและนักลงทุนเข้าด้วยกันโดยไม่ผ่านตัวกลาง คงเคยผ่านหูหลายๆ คนกันมาบ้างแล้ว ตลาดแพลตฟอร์มรูปแบบนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลกโดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร ที่มีตลาดเงินกู้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงจีน ประเทศมหาอำนาจในเอเชียที่มีบริษัทเปิดให้บริการแพลตฟอร์มรูปแบบ P2P แล้วถึง 3,000 แพลตฟอร์ม ข้อดีของธุรกรรมประเภทนี้เห็นจะหนีไม่พ้น ความน่าเชื่อถือ ความสะดวกสบาย และรวดเร็วกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการถือพิจารณาเป็นอันดับแรกๆ
“การกู้ยืมเงินบนแพลตฟอร์มของสตางค์ดี แตกต่างจากสถาบันการเงินตรงที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของระบบอัตโนมัติ ช่วยแยกแยะความน่าเชื่อถือของผู้กู้เงินและผู้ลงทุน ซึ่งมีการวัดศักยภาพของผู้กู้เงิน โดยคำนวณจากฐานข้อมูลทั่วไปที่ทำการกรอกเข้ามาในระบบ เช่น อายุ เงินเดือน เพื่อชี้วัดว่าผู้กู้เงินมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ช่วยให้ผู้ลงทุนทำการวิเคราะห์ได้ว่าบุคคลนั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดในการชำระเงิน ทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจมากขึ้น นอกจากนี้ระบบจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยของผู้กู้แต่ละรายที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล” อเล็กซ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี หลังจาก สตางค์ดี.คอม เปิดตัวแพลตฟอร์ม P2P ปลายเดือนกันยายนปี 2015 ที่ผ่านมา ซึ่งก็มีผู้ให้ความสนใจจำนวนไม่น้อยลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ แต่ด้วยขั้นตอนทางกฎหมายที่ยังทำให้ไม่มีการรับรองธุรกิจประเภท P2P แบบบุคคลต่อบุคคลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ สตางค์ดี.คอม ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ จะเห็นได้ว่า แม้แพลตฟอร์ม P2P จะได้รับความไว้วางใจและเป็นที่แพร่หลายในต่างชาติ แต่หากยังไม่ได้รับการรับรองและอนุมัติในบ้านเรา แพลตฟอร์มรูปแบบนี้ก็ยังไม่สามารถทำให้คนไทยไว้วางใจได้
ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ Fintech อย่าง สตางค์ดี.คอม คือ รอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยร่างกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการธุรกรรมทางการเงิน P2P แบบบุคคลต่อบุคคล และยื่นเรื่องขอหนังสือรับรองเพื่อให้บริษัทเปิดให้บริการได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจตามมาจากการกู้ยืมเงินและทำให้ สตางค์ดี.คอม เป็นที่น่าเชื่อถือและประสบความสำเร็จได้ในประเทศไทย ซึ่งความหวังก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เมื่อขั้นตอนการร่างกฎหมายใกล้เสร็จสมบูรณ์ในไม่ช้านี้แล้ว
จะดีมากแค่ไหน หากในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยเปิดกว้างและรองรับแพลตฟอร์ม P2P แบบบุคคลต่อบุคคล ปัญหาการกู้หนี้ยืมสินนอกระบบคงหมดไปกว่าครึ่งหนึ่ง ผู้คนไม่ต้องเสียของรักของหวงจากการนำไปจำนำ และยังลดภาระหนี้สินก้อนโตให้กับบุคคลรายได้น้อยไปจนถึงปานกลางได้อีกด้วย การลดช่องว่างทางการเงินถือเป็นจุดประสงค์หลักของธุรกิจประเภท P2P ที่จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น และสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับประเทศ
เยี่ยมชมเว็บไซต์ Satangdee.com
บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ยืมเงินผ่านแอป | ยืมเงินออนไลน์ | เงินด่วนออนไลน์ | peer to peer lending
แก้ไขเมื่อ 26/08/2020 | เผยแพร่เมื่อ 21/01/2019
โดย Apinya Saeueng