ความเป็นมาของอาเซียน

ความเป็นมาของอาเซียน

เชื่อว่าหลายท่านคงจะเคยได้ยินชื่อ หรือรู้จักสมาคมอาเซียนอยู่บ้าง คำกล่าวที่ว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่อาเซียน หรือเข้าสู่ AEC เมื่อไม่นานนี้ ก็กลายเป็นสิ่งที่คนในแทบทุกวงการและสาขาอาชีพกำลังพูดถึงในช่วงที่ผ่านมา ทว่าพวกเราเข้าใจความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้มากเพียงใด หรือรู้กระทั่งว่าอาเซียนคืออะไรและมีจุดประสงค์อะไรบ้าง ท่านใดที่ไม่เคยได้ยิน หรือทราบความเป็นมาแต่โดยคร่าวๆ สามารถทำความเข้าใจกับสิ่งนี้ได้ในบทความนี้

ชื่อสมาคมอาเซียน  มีที่มาจาก ASEAN ที่ย่อมาจาก The Association of Southeast Asian Nations และมีชื่อเต็มในภาษาไทยว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดมาจากประกายความคิดของกลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2509 ประเทศไทยกำลังดำเนินการเสริมสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ หลังเกิดเหตุอันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเหล่านี้บาดหมางลงในขณะหนึ่ง และภายในช่วงนั้นเอง แนวคิดการรวมกลุ่มเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภายในกลุ่มประเทศก็เริ่มเกิดขึ้น

 

เมื่อเวลาประมาณสิบสี่เดือนต่อมา  

หลังจากจัดการปัญหาด้านความสัมพันธ์ทั้งภายในและระหว่างประเทศเสร็จสิ้น ตัวแทนจาก 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายนาร์ซิโซ อาร์ รามอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ตุน อับดุล ราซัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติสหพันธรัฐราชาธิปไตยมาเลเซีย นายเอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ และพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรไทย ก็เริ่มดำเนินการวางแผนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันและกัน โดยแรกเริ่มทั้ง 5 ท่านได้ใช้เวลาปรึกษาหารือกันอย่างไม่เป็นทางการที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ณ ชายทะเลหาดบางแสน เมืองพัทยา ประเทศไทย เป็นเวลา 4 วัน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) การประชุมอย่างเป็นทางการจึงเกิดขึ้น ที่อาคารกระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย รัฐมนตรีทั้ง 5 ท่านร่วมกันลงนามในเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งภายในเวลาต่อมาได้รับชื่อว่าเป็นปฏิญญาแห่งอาเซียน (The ASEAN Declaration) หรือปฏิญญากรุงเทพ (The Declaration of Bangkok) ซึ่งประกอบไปด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับความสำคัญและเป้าหมายของสมาคม ได้แก่:

ประกาศให้องค์กรที่ก่อตั้งเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีชื่อว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน
ประกาศให้สมาชิกในอาเซียนช่วยเหลือกัน และร่วมกันสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และการศึกษาของประเทศในกลุ่มสมาชิก
ประกาศให้สมาชิกเสริมสร้างสันติสุขในภูมิภาคอย่างตั้งมั่นในความยุติธรรม และปฏิบัติตนตามกฏบัตรสหประชาชาติ (Charter of the United Nations)
กำหนดเงื่อนไขให้สมาคมเปิดรับทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยินดีปฏบัติตามข้อตกลงและเป้าหมายของอาเซียน ให้สามารถเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกได้
ประกาศให้อาเซียนเป็นตัวแทนแห่งเจตนารมณ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สร้างพันธะต่อกันด้วยมิตรภาพและความประสงค์ที่จะร่วมมือกันปกป้องประชาชนในประเทศสมาชิก และเพื่อสร้างความสุข สันติสุข และเสรีภาพผ่านการร่วมมือและร่วมแรงเสียสละเพื่อกันและกัน 

 

ในระยะแรกที่ก่อตั้งสมาคมอาเซียน  มีสมาชิกเพียง 5 ประเทศ แต่ปัจจุบันมีประเทศอื่นในภูมิภาคเข้าร่วมอีกจนมีทั้งหมด 10 ประเทศ โดยบรูไน ดารุสซาลาม ได้เข้าร่วมกับอาเซียนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 ตามด้วยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 และราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 ตามลำดับ

 

ความเป็นมาของอาเซียน

 

สัญลักษณ์ประจำสมาคมอาเซียน  คือรูปรวงข้าวสีเหลืองบนพื้นสีแดง มีตัวอักษร asean สีน้ำเงินอยู่ข้างใต้ และมีวงกลมสีขาวและสีน้ำเงิน รวงข้าวแต่ละต้นแทนสมาชิกแต่ละประเทศ ซึ่งเดิมทีมีเพียง 5 ต้น สื่อถึงประเทศสมาชิกห้าประเทศแรก ปัจจุบันสัญลักษณ์ถูกเปลี่ยนให้มีต้นข้าว 10 รวง เท่ากับจำนวนประเทศสมาชิกในปัจจุบัน โดยสีเหลืองหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง สีแดงหมายถึงความกล้าหาญ สีน้ำเงินหมายถึงสันติภาพ ความมั่นคง และสีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  สมาคมอาเซียนร่วมกันกำหนดนโยบาบและข้อตกลงมากมายที่เอื้อให้เกิดผลประโยชน์ระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิก เช่น การจัดทำสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asian Nuclear Weapon-Free Zone) เพื่อส่งเสริมสันติสุขและความปลอดภัย การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) เพื่อส่งเสริมการค้า ลดต้นทุนการผลิตสินค้า และลดภาษีศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิก และปัจจุบันนี้เอง ผู้นำประเทศสมาชิกได้หารือกัน และต้องการสร้างความมั่นคงระหว่างประเทศสมาชิกด้วยการช่วยเหลือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น จึงมีการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือย่อยภายในอาเซียนอีกมากมาย อาทิ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือที่รู้จักกันในตัวย่อ AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) ซึ่งแต่ละกลุ่มย่อยย่อมมีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศสมาชิกตามชื่อ โดยทั้งหมดนี้เกิดจากการลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียนฉบับที่ 2 (Declaration of ASEAN Concord II) ซึ่งหากดำเนินการไปตามแผนทั้งหมด ผลที่ตามมาจะทำให้เกิดประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศในสมาชิกมีการแลกเปลี่ยนประชากร ความรู้ สังคม และวัฒธรรมกันมากกว่าเดิม เช่น เราอาจจะได้เห็นนักธุรกิจจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ในขณะที่นักธุรกิจไทยอาจตั้งเป้าลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน เหตุการณ์นี้เองจึงเป็นที่มาของวลี “ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่อาเซียน (หรือบางคนอาจพูดถึง AEC)” และการดำเนินงานต่างๆ ที่ทำให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อเปิดรับการมาเยือนของบุคคลจากสหอาชีพในประเทศเพื่อนบ้านนั่นเอง 

 

ตามกำหนดการเดิม  สมาคมตั้งเป้ารวมประเทศสมาชิกให้ก่อตั้งประชาคมอาเซียนเสร็จสมบูรณ์ภายในปีพ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของโลก จึงมีข้อตกลงให้เร่งดำเนินการก่อตั้งประชาคมเร็วขึ้นเป็นปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว อาจจะพบว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากและเพิ่งเริ่มต้นเมื่อไม่นานนี้ แต่เมื่อทุกท่านเข้าใจจุดประสงค์และเป้าหมายของอาเซียนโดยคร่าวแล้ว ก็อาจจะถึงเวลาที่เราต้องปรับตัวให้ทันเหตุการณ์ และทันโลก เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ไปด้วยกัน
 
 
แหล่งอ้างอิงข้อมูล:
http://asean.org/asean/about-asean/history/
 

(6.1.2564)

 

 



Siirry alkuun